ธุรกิจ ควบรวมทรู-ดีแทค

ควบรวมทรู-ดีแทค : หนทางขรุขระที่คุ้มค่าเสี่ยง

ควบรวมทรู-ดีแทค อนาคตตลาดมือถือไทย ถึงคราวเปลี่ยนแปลง 

“ผิดหวังมากที่สุด” คือคำตอบของ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ผู้ยืนหยัดคัดค้านการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา

ธุรกิจ ควบรวมทรู-ดีแทค

สอดคล้องกับถ้อยวจี “มติอัปยศ” ของ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่โพสต์เฟซบุ๊ก ประณามมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 ที่รับทราบและไม่คัดค้านการควบรวมกิจการทรูและดีแทค

เช่นเดียวกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่ให้สัมภาษณ์ว่า “ผิดหวังและเป็นวันน่าเศร้าของเศรษฐกิจไทย”

เพราะการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค คือการเปลี่ยนภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมไปตลอดกาล แม้ทรูและดีแทคจะพยายามอย่างมากที่จะบรรลุข้อตกลง ซึ่งพวกเขามองว่าคืออนาคตอันสดใส ที่จะเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้อย่างเข้มแข็งทั้งในและนอกประเทศ เพราะในโลกธุรกิจ สิ่งสำคัญคือความอยู่รอดและความสามารถในการแข่งขัน เดิมพันครั้งนี้จึงสูงและคุ้มค่าที่จะเดินหน้าลุย!!

แต่ความเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบต่อผู้ใช้มือถือในประเทศเกือบ 100 ล้านเลขหมาย ย่อมต้องมาพร้อมกับความเจ็บปวด ทั้งต่อผู้บริโภค คู่แข่ง กระทบชิ่งไปถึงหน่วยงานกำกับดูแล และต่อทรู-ดีแทคเอง…

ความเห็น “ศุภัช–พิรงรอง” ทำไม? ต้องค้าน

เพราะคำว่า “ทรยศวิชาชีพตัวเองไม่ได้” ทำให้ “ศุภัช ศุภชลาศัย” กรรมการ กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ และ “พิรงรอง รามสูต” กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ตัดสินใจเป็นกรรมการ กสทช.เสียงข้างน้อย ไม่อนุญาตให้ควบรวบกิจการ “ทรู–ดีแทค” สอดคล้องการแสดงจุดยืน คัดค้านการควบรวบมาตลอดเวลากว่า 6 เดือน นับตั้งแต่รับตำแหน่ง โดย รศ.ดร.ศุภัช แสดงความเห็นคัดค้านเป็นเอกสารหลักฐานระบุว่า การรวมธุรกิจครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดการมีอำนาจตลาดสูง ส่งผลต่อการแข่งขัน เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยาก หรือไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่ผู้ประกอบการรายใหม่จะเข้าสู่ตลาด

นอกจากนี้ยังจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม อาทิ อัตราค่าบริการมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะทางเลือกบริการน้อยลง คุณภาพการให้บริการลดลง ผู้ร่วมธุรกิจไม่มีแรงจูงใจในการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีหรือถ้ามีก็ลงทุนล่าช้า และไม่เข้าไปลงทุนในพื้นที่ผลตอบแทนต่ำ ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ ย่อมทำให้ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคม เพิ่มสูงขึ้น จนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล